สุมาอี้
(司马懿 Sima Yi)
(司马懿 Sima Yi)
หากจะพูดถึงตอนจบของวรรณกรรมสามก๊ก สุดท้ายผู้ได้ครอบครองแผ่นดินจีนก็คือ สุมาเอี๋ยน (司马炎 Sima Yan) ซึ่งได้สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ (ราชวงศ์จิ้น) ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จต้องยกให้กับ สุมาอี้ (司马懿 Sima Yi) ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ กล่าวคือ สุมาอี้ได้วางแผนและระบบงานไว้ตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่ ก่อนจะถ่ายทอดสู่รุ่นลูกและรุ่นหลาน
สุมาอี้เป็นคนเฉลียวฉลาดและมีความอดทนอดกลั้น ในระหว่างที่เป็นขุนนางให้กับ โจโฉ (曹操 Cao Cao) เขาเป็นทั้งที่ปรึกษาและนักวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการสู้รบ ซึ่งผู้อ่านวรรณกรรมสามก๊กถือว่าสุมาอี้เป็นคู่ปรับคนที่สำคัญของ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง (诸葛亮 Zhuge Liang) อีกด้วย ถึงแม้ว่าจะรับใช้โจโฉแต่ก็ไม่ได้รับความไว้วางใจ เนื่องจากสุมาอี้เองเป็นคนที่มักมีแผนการอยู่เสมอ ส่วนโจโฉเองก็เป็นคนที่ไม่ค่อยไว้วางใจคนอื่นเป็นทุนเดิม แต่สุมาอี้ก็รู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดีและมีคติสอนใจในการทำงานคือ “เมื่อเจอกับผู้นำที่หวาดระแวง ต้องขยัน เคารพ และอดทน”
ความล่มสลายของก๊กทั้งสามสาเหตุหนึ่งก็มาจาก รุ่นหลังที่มารับงานต่อไม่ได้ปฏิบัติตามระบบหรือแผนงานตามที่รุ่นก่อนหน้าได้วางไว้ โดยก๊กทั้งสามต่างก็ล่มสลายในรุ่นลูกหรือรุ่นหลานของตัวเอง ซึ่งสุมาอี้เองก็ตระหนักถึงข้อนี้ จึงมักจะถ่ายทอดวิชาและกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้กับรุ่นลูกพร้อมทั้งให้ติดตามทำศึกอยู่เสมอ ๆ และหมั่นสร้างสัมพันธ์อันดีกับขุนนางขุนศึกต่าง ๆ ทำให้มีบารมีในกองทัพพอสมควร จนเมื่อมาถึงรุ่น โจฮอง (曹芳 Cao Fang) ซึ่งเป็นหลานของโจโฉ สุมาอี้ก็ถูกปลดจากราชการให้อยู่แต่กับบ้านเฉย ๆ 8 ปีต่อมา เมื่อโอกาสมาถึง สุมาอี้ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากตระกูลโจ เพราะเห็นว่าตระกูลนี้เริ่มอ่อนแอและชาวบ้านเริ่มไม่พอใจในการบริหาร หลังจากปฏิวัติสำเร็จก็วางระบบและแผนงานต่าง ๆ ให้รุ่นลูกและรุ่นหลานทั้งการบริหารบ้านเมืองและการศึกสงคราม จนในที่สุดแผ่นดินจีนที่ถูกแบ่งเป็นสามก๊กก็ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวในรุ่นหลานของสุมาอี้ก็คือ สุมาเอี๋ยน ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง http://tpapress.com/knowledge_detail.php?k=29
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น